โฆษกแบงค์ชาติ เผย แนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายปี’66 และปี’67 มีสัญญาณบวกต่อเนื่อง หลังสภาพัฒน์เผยการขยายตัวไตรมาส 3/66 ดีเพิ่ม ส่งออก,ท่องเที่ยวพุ่งต่อเนื่อง แม้หนี้ครัวเรือนสูงแต่กำลังซื้อยังดี ธุรกิจ,ประชาชนมีรายได้ฟื้นจากโควิด-19 ชัดขึ้น ภัยแล้งยังต้องเฝ้าระวัง ตลาดทุนยังอ่อนไหวง่าย ส่วนนโยบายแจกเงินดิจิตอลแบงค์ชาติยังยืนยันในแนวทางข้อเสนอแนะเดิม ยังต้องลุ้นความชัดเจนจากรัฐบาล
เชียงใหม่ 20 พ.ย.- ที่ห้องประชุมธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยปัจจุบันถือว่ายังดีต่อเนื่อง ภาวะดอกเบี้ยเวลานี้ถือว่ายังอยู่ในระดับที่เหมาะสม การบริโภคภาพรวมของประเทศไทยยังไปได้ดี แต่การลงทุนอาจชะลอลงบ้าง เนื่องจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ยังไม่เสถียร สภาพอากาศ ภัยแล้วเอลนีโญ เป็นตัวแปรที่ส่งผลต่อภาคการเกษตร เช่น มันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง รวมทั้งอ้อยที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงทำให้ผลผลิตเติบโตไม่ดี รายได้เกษตรกรลดลงตามไปด้วย
จากสัญญาณตัวเลขเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ฯ ไตรมาส 3/2566 ออกมาวันนี้(20 พ.ย.)แนวโน้มดีขยายตัวเป็นบวก โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 3 ของปี 2566 และแนวโน้มปี 2566-2567 ว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งเป็นตัวเลขจริงทางเศรษฐกิจของไทย ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ขยายตัว 1.5% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ 1.8%
ขณะที่ นางพรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือกล่าวเสริมว่า ภาคเหนือมีทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจระดับประเทศโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการเป็นจุดแข็งสำคัญอีกทั้งเข้าสู่ช่วง high season จึงเป็นปัจจัยบวกสำคัญรวมถึงรายได้ภาคการเกษตรก็ยังเป็นจุดแข็งส่วนการค้าชายแดนถือว่ายังมีสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับระดับประเทศปัญหาของประเทศเพื่อนบ้านก็ยังเป็นปัจจัยหลัก ปัจจัยหนุนสำคัญจึงอยู่ที่การท่องเที่ยวและภาคบริการ เช่น ภัตตาคาร โรงแรม การขนส่ง นักท่องเที่ยว กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทำให้คึกคัก ทำให้ภาพรวมการท่องเที่ยวยังดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะปีหน้าคาดว่าท่องเที่ยวจะโตมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่เป็นแรงบวกด้านโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังพัฒนารองรับกับเศรษฐกิจชายแดนและจีน เช่น อ.เชียงแสน อ.เชียงของ จังหวัดเชียงราย ถือเป็นโอกาสที่ดีในอนาคตด้วย
โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวอีกว่า ในเรื่องการส่งออกปีหน้าก็น่าจะฟื้นเพิ่มขึ้นจากสัญญาณบวกที่ดีขึ้น โดยเฉพาะวัฎจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เดิมชะลอตัวลงจากการขยายตัวในช่วงโควิดที่มีกำลังซื้อสูง แต่ไตรมาส 4 น่าจะเริ่มมีการเปลี่ยนหรืออัพเกรดสินค้าตัวใหม่ ทำให้เกิดการซื้อขายเพิ่มอีกครั้ง ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นกำลังผลิตในบ้านเราเพิ่มขึ้น แต่ในส่วนของสินค้าฟุ่มเฟือยที่เคยขายไม่ออก ปัจจุบันเริ่มมีสัญญานบวกด้วย เช่น กลุ่มเซรามิก เสื้อผ้า เครื่องประดับ อัญมณี เป็นต้น ส่วนเรื่องของตลาดทุนยังถือว่า มีความอ่อนไหวและผันผวนง่าย ตรงนี้ขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
“ธปท.ยังมองว่า เศรษฐกิจของไทยกำลังโตและฟื้นตัวขึ้น แต่ยังต้องระมัดระวังอัตราเงินเฟ้อที่สูงแต่เรามีอัตราดอกเบี้ย ที่ขณะนี้อยู่ที่ 2.5% เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ในขณะที่บางประเทศทั่วโลกอยู่ที่ 7% จึงถือได้ว่าประเทศไทยอยู่ในช่วงผ่อนคันเร่งจากก่อนหน้านี้ และยังต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะเรื่องหนี้สินในแง่ฝั่งธุรกิจเริ่มดีขึ้น แต่ในส่วนของเอสเอ็มอีและรายย่อยยังไม่โตมาก ถือว่า เพิ่มในอัตราที่น้อยลง ตอนนี้จึงเห็นอยู่ในเสถียรภาพ” น.ส.ชญาวดี กล่าวและว่า นโยบายเรื่องดิจิตอลวอลเลย์ของรัฐบาลก็ต้องติดตามว่า ที่สุดแล้วออกมาแบบไหนซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นที่รัฐบาลให้คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังกลั่นกรองดูเรื่องตัวกฎหมายเงินกู้ ส่วนแบงค์ชาติก็ยืนยันในแนวทางเดิมที่ได้ให้ความเห็นไปแล้ว
สำหรับดัชนีตัวเลขทางเศรษฐกิจไทยที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 3 ของปี 2566 และแนวโน้มปี 2566-2567 วันนี้ระบุว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งเป็นตัวเลขจริงทางเศรษฐกิจของไทย ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ขยายตัว 1.5% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ 1.8% ทั้งนี้เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยติดลบ 3.1% รายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการขยายตัว 0.5% ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือน (มกราคม – กันยายน 2566) เศรษฐกิจไทยขยายตัว อยู่ที่ 1.9% สภาพัฒน์ระบุว่า การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง 8.1% เร่งขึ้นจาก 7.8% ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 4 ไตรมาส ตามการขยายตัวดีขึ้นของการใช้จ่ายในเกือบทุกหมวด สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องของการจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น การลงทุนรวมขยายตัว 1.5% เร่งขึ้นจาก 0.4% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเร่งขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน 3.1% เทียบกับการขยายตัว 1.0% ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่การลงทุนภาครัฐลดลง 2.6% เทียบกับการลดลง 1.1% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการลงทุนรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น และการลงทุนรัฐวิสาหกิจ การส่งออกมีมูลค่า 70,405 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 2.0% เทียบกับการลดลง 5.6% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณส่งออกลดลง 3.1% ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้น 1.1%
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.7 – 3.7 (ค่ากลางของการประมาณการอยู่ที่ร้อยละ 3.2) โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจาก (1) การกลับมาขยายตัวของการส่งออก (2) การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และ (3) การฟื้นตัวอย่ำงต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้คาดว่า การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.2 และร้อยละ 2.8 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 3.8 สำหรับอัตราเงินเฟ้อ
ทั่วไปคาดว่า จะเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 1.7 – 2.7 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.5 ของ GDP
รายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2567 ในด้านต่าง ๆ มีดังนี้ การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค ประกอบด้วย (1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่า จะขยายตัวร้อยละ 3.2 ชะลอลงจากการขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 7.0 ในปี 2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจำกตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สูงขึ้นและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และ (2) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะกลับมาขยายตัวร้อยละ 2.2 จากการลดลงร้อยละ 4.2 ในปี 2566 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 2,762,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 จำกกรอบวงเงิน 2,569,219 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2566 การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 1.3 ในปี 2566 โดย (1) การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.8 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.0 ในปี 2566 ตามแนวโน้ม.