กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายวิทยุชุมชน ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสร้างความเข้มแข็งในภาคีเครือข่ายวิทยุชุมชน โดยจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการบุคลากรที่ทำงานด้านวิทยุชุมชน ในพื้นที่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้
เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ณ ห้องประชุม COCKPIT MEETING โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายวิทยุชุมชน พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคีเครือข่ายวิทยุชุมชน โดยจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่ทำงานด้านวิทยุชุมชน ในพื้นที่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ โดยมี ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานเปิดเวทีและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นพร้อมด้วย นางสาวพัชรพร พงษ์ทัดศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผศ.ดร.สุรวุฒน์ ช่อไม้ทอง คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยเขตปัตตานี ดร.เนตรดาว ยั่งยุบล หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมทางสังคมเพื่อการบริหารและพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน มอ.ปัตตานี ร่วมกับตัวแทนสถานีวิทยุชุมชน จากภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ จำนวน 30 สถานี เพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายในการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคีเครือข่ายวิทยุชุมชน
ดร.ธนกร กล่าวว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ร่วมกับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยเขตปัตตานี จัดโครงการพัฒนาศักยภาพและหาแนวทาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ให้สถานีวิทยุชุมชนมีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะวางแนวทางในการเข้าสู่ระบบใบอนุญาต และจะทำอย่างไรให้อยู่รอดได้จริง โดยเฉพาะแนวทางในการสนับสนุน อุดหนุนสถานีต้นแบบ ตนมีความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ บุคลากรที่ตั้งใจในการทำสถานีวิทยุชุมชน ในปัจจุบันนี้ คือเป็น กลุ่มคนที่มีใจรักในอาชีพ เพราะสถานีวิทยุชุมชนมีรายได้เพียงเล็กน้อย แต่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก จนทำให้ปัจจุบันต้องหาทิศทางในหลายๆแพลตฟอร์ม ซึ่งการใช้หลายๆแพลตฟอร์มจะสามารถหลุดจากข้อจำกัดในเรื่องกำลังส่งและรัศมีการออกอากาศและจะทำให้เปิดพื้นที่ของโลกออนไลน์ มากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้ จะสามารถทำเป็นต้นแบบให้สถานีวิทยุชุมชนอื่นๆได้เรียนรู้ ศึกษา จนถึงการถอดบทเรียนว่าทำอย่างไรที่ทำให้อยู่รอดและตอบสนองต่อชุมชนได้ด้วย
ด้านผศ.ดร.สุรวุฒน์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายวิทยุชุมชน มีวัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อยกระดับมาตรฐานการทำงานของวิทยุชุมชนให้มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ด้วยการสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมของเครือข่ายกลุ่มของวิทยุชุมชนในการกำกับดูแลกันเอง โดยตัวมาตรฐานทางจริยธรรมที่จัดทำขึ้น จะเป็นตัวที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของวิทยุชุมชนกับวิทยุทดลองประกอบกิจการทำให้วิทยุชุมเกิดความน่าเชื่อถือจากสังคมภายนอก และเป็นการสร้างเครือข่ายวิทยุชุมชน ในการฝึกการกำกับดูแลกันเอง ให้ข้อมูลข่าวสารที่สื่อสารมีประโยชน์กับประชาชนในชุมชนจริงๆ ประชาชนในพื้นที่สามารถมีช่องทางร้องเรียนหากพบว่า วิทยุชุมชนของตนมีการนำเสนอข้อมูลที่บิดเบือนจากความเป็นจริง เป็นข้อมูลที่ไม่เป็นประโยชน์กับชุมชน หรือมีการทำผิดหลักการหรือเจตนารมณ์ของวิทยุชุมชนขึ้นในมิติการรู้เท่าทันสื่อ เพราะในปัจจุบันจากการที่ภูมิทัศน์สื่อได้เปลี่ยนไป การสื่อสารได้เข้าสู่ยุคหลอมรวมข้อมูลข่าวสารเชื่อมถึงกัน การพัฒนาให้เครือข่ายวิทยุชุมชนสามารถปรับตัวและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปจึงมีความจำเป็น รวมทั้งการทำให้เครือข่ายวิทยุชุมชนสามารถวิเคราะห์สื่อต่างๆ ให้เกิดความรู้เท่าทัน เพราะสถานีวิทยุชุมชน มีหน้าที่ในการกระจายข่าวสารสู่ชุมชนและสังคม หากนักจัดรายการวิทยุชุมชน ไม่สามารถวิเคราะห์และรู้เท่าทันถึงข้อมูลหรือข่าวสารที่รับมาได้ เมื่อสื่อสารออกไปก็จะทำให้ชุมชนหรือผู้รับสารรับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องไปได้ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา
ขณะ ดร.เนตรดาว ยั่งยุบล หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมทางสังคมเพื่อการบริหารและพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตานี กล่าวว่า โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายวิทยุชุมชน เกิดขึ้นภายใต้ความรับผิดชอบของ ผศ.ดร.สุรวุฒน์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และคณะทีมงาน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ รวมถึงภาคประชาสังคมและชุมชน ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สื่อ ที่ปลอดภัยระดับชุมชน ตำบล อำเภอ และระดับนโยบายจังหวัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของสถานีวิทยุชุมชนในการจัดการระบบนิเวศการสื่อสารที่สร้างสรรค์ และพัฒนานักจัดรายการ ผู้สื่อข่าวชุมชนรุ่นใหม่ เพื่อนำความคิด ประเด็นข้อมูลจากพื้นที่มาผลิตสื่อ ที่เป็นข่าวสารที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้ ทั้งเพื่อให้เกิดพื้นที่ต้นแบบในการผลิตสื่ออย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ และเกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังชุมชนต่างๆ อย่างทั่วถึง การพัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆ ที่สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละภูมิภาค การขับเคลื่อนและการทำงานเพื่อพัฒนาศักยภาพวิทยุชุมชน มุ่งเน้นการพัฒนาการสื่อสารประเด็นทางสังคมต่างๆไม่ว่าจะเป็นประเด็นเด็ก เยาวชน สุขภาพ ภูมิปัญญา สิ่งแวดล้อม ผู้หญิง คนพิการ ผู้สูงอายุ อาชีพ เศรษฐกิจ ชุมชน ท่องเที่ยว ชุมชน ศาสนา ชาติพันธุ์ เกษตร เพื่อเป็นช่องทางบรรเทาทุกข์ของประชาชน รับข้อร้องเรียนบรรเทาสาธารณภัย และการรับแจ้งอุบัติเหตุบนท้องถนน
โดยมีกลไกที่สำคัญ 3 กลไก ประกอบด้วย กลในการปกป้องและป้องกัน กลไกในการเฝ้าระวัง กลไกในการคุ้มครองเพื่อสร้างสรรค์สื่อ การขับเคลื่อนโครงการเพื่อสร้างเครือข่ายสื่อวิทยุชุมชนในภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสื่อวิทยุชุมชน การพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ระดับพื้นที่และการพัฒนานวัตกรรมสื่อวิทยุชุมชน โดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อเสนอนโยบายสื่อ กฎหมายและกฎระเบียบ จนเกิด “วาระสื่อ” ในระดับภาคและระดับประเทศต่อไป จากเวทีในครั้งนี้ สามารถได้ข้อเสนอเชิงนโยบายในการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคีเครือข่ายวิทยุชุมชน โดยมีแนวทางคือ เกิดฐานข้อมูลของสถานีวิทยุที่ชัดเจน เกิดสถานีต้นแบบ ในแต่ละภูมิภาค เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น การศึกษา สุขภาพ การป้องกันอาชญากรรม รวมไปถึงการจัดรูปแบบของแผนรายการ ในการปรับตัวและยกระดับ ในการเป็นสถานีวิทยุต้นแบบ รวมไปถึงแผนการจัดการ ในเชิงนโยบายรวมถึงการสนับสนุน และกลไกการทำงาน ระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค จนนำไปสู่การพัฒนาสื่อให้เกิดความปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมีความร่วมมือจากภาคประชาสังคม จนนำไปสู่กลไกให้เกิดระบบนิเวศสื่อ เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอเพื่อพัฒนาโครงการสามารถสร้างความเข้มแข็งของสถานีวิทยุชุมชนต่อไป.