เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ บิ๊กซีเอ๊กซ์ตร้า จังหวัดเชียงใหม่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในงานแถลงข่าว เทศกาลผลไม้ของดีเมืองเชียงใหม่ ประจำปี 2566 ที่จะจัดให้มีขึ้น 2 งาน ได้แก่ งานประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ไม้ผลอัตลักษณ์ “ลิ้นจี่” จังหวัดเชียงใหม่ และ งานวันมะม่วงและของดีเมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ 12 โดยมี นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย พันจ่าเอกวิทยา ลีละศาสตร์ รองปลัดองค์กรบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่, นายเจริญ พิมพ์ขาล เกษตรจังหวัดเชียงใหม่, นางนัยนภัส สังขนุกิจ พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่, ส่วนราชการ, และผู้แทนเกษตรกร ร่วมงานแถลงข่าวในครั้งนี้
ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า มะม่วงและลิ้นจี่เป็นผลไม้ที่อยู่ในความนิยมเนื่องจากมีความหอมหวานและรับประทานง่าย จังหวัดเชียงใหม่มีสภาพภูมิอากาศและพื้นที่ที่เหมาะแก่การปลูกทั้งมะม่วงและลิ้นจี่ ส่งผลให้ผลผลิตมะม่วงและลิ้นจี่ที่ผลิตจากจังหวัดเชียงใหม่เป็นสินค้าคุณภาพ ซึ่งขณะนี้มีการส่งเสริมและผลักดันให้ลิ้นจี่พันธุ์จักรพรรดิ อำเภอฝาง ให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือสินค้า GI ในขณะที่มะม่วงของจังหวัดเชียงใหม่ก็เป็นสินค้าเกษตรคุณภาพอีกหนึ่งชนิดที่ผู้บริโภคให้การตอบรับเป็นอย่างดีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจังหวัดบูรณาการเฝ้าระวังแก้ไขปัญหาให้เกษตรวางแผนงานล่วงหน้าเพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาหรือผละกระทบหนัก ช่วงต่อไปที่ต้องเตรียมรับคือ ลำไย
นายเจริญ พิมพ์ขาล กล่าวว่า คาดว่าปีนี้จังหวัดเชียงใหม่จะมีผลผลิตมะม่วงออกสู่ตลาดกว่า 71,000 ตัน เฉลี่ยราคา กก.ละ 20 บาทก็มีรายได้เข้าชาวสวนไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท ซึ่งยังมีการส่งออกไปต่างประเทศอีก ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์โชคอนันต์ น้ำดอกไม้สีทอง จินหวง มหาชนก น้ำดอกไม้เบอร์ 4 และพันธุ์อื่น ๆ เช่น แดงจักรพรรดิ อาร์ทูอีทู งาช้างแดง เขียวเสวย มันขุนศรี และมันศรีวิชัย เป็นต้น เช่นเดียวกับลิ้นจี่ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่เป็นแหล่งปลูกลิ้นจี่ที่มีความสำคัญต่อประเทศ และเป็นไม้ผลอัตลักษณ์ที่สร้างชื่อเสียงของจังหวัด คาดว่า ปีนี้จะมีผลผลิตประมาณ 23,848 ตัน ทั้งลิ้นจี่พันธุ์กิมเจง จักรพรรดิ ฮงฮวย และโอวเฮียะ ถัวเฉลี่ย กก.ละ 50 บาทก็สร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท
ด้านนางนัยนภัส สังขนุกิจ กล่าวว่า ราคาลิ้นจี่ปีนี้มีโอกาสขยับตัวสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 5-10 บาท เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตลดลง และจะมีรายได้จากการจำหน่ายลิ้นจี่ประมาณ 100-300 บาท ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่เข้าในระบบและมีส่วนทำให้เศรษฐกิจในจังหวัดดีขึ้น ขณะเดียวกันมะม่วง จากที่มีการคาดการณ์ผลผลิตรวมจะมีจำนวนกว่า 71,000 ตัน และมีการทยอยกระจายให้ผลผลิต ไม่กระจุกตัวเหมือนปีที่ผ่านมา กอปรกับสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย มีสัญญาณการสั่งซื้อมะม่วงมากขึ้น โดยเฉพาะพันธุ์น้ำดอกไม้ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่น ประเทศมาเลเซีย สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐสิงคโปร์ ทำให้ราคาขยับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมเช่นกัน โดยผลไม้เชียงใหม่และภาคเหนือตอนนี้มี อมก๋อยโมเดล ช่วยบริหารจัดการทำให้ลดปัญหาราคาตกได้มาก โดยเฉพาะการกระจายสู่ตลาดนอกพื้นที่จังหวัดอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ยังมีสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ สมาคมร้านอาหารสถานบันเทิงในเชียงใหม่ก็รับซื้อเป็นเมนูอาหารเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทำให้เกิดการบูรณาการในเรื่องนี้เป็นอย่างดี
สำหรับงานประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ไม้ผลอัตลักษณ์ “ลิ้นจี่” จังหวัดเชียงใหม่ จะจัดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 10-13 มิถุนายนนี้ ณ ลานประตูท่าแพ และ งานวันมะม่วงและของดีเมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ 12 ก็จะจัดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 มิถุนายนนี้ ณ ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยทั้งสองงานจะมีการจำหน่ายผลผลิตสินค้าทั้งสดและแปรรูป รวมทั้งจะมีการแสดงนิทรรศการให้ความรู้วิชาการจากหน่วยงานต่าง ๆ อันจะเป็นการส่งเสริมการตลาด และเปิดโอกาสให้เกษตรกรจำหน่ายสินค้าให้กับผู้บริโภคโดยตรง พร้อมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลผลิตการเกษตรที่มีรสชาติดีให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย