มช.เปิดตัว’สถาบันวิจัยพหุศาสตร์’หลอมรวมองค์กรชั้นนำด้านวิจัยสู่พลังการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดตัวสถาบันวิจัยพหุศาสตร์ MDRI ครบรอบ 1 ปี หลังหลอมรวม 2 องค์กรชั้นนำด้านวิจัยร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และการพัฒนาสังคม ชุมชนและอุตสาหกรรม ตามแผนฯระยะ 13

เชียงใหม่ 20 ก.พ.- ที่อาคารรวมวิจัยและบัณฑิตศึกษา สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดสถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โอกาสครบรอบ 1 ปี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาสถาบัน โดยมี ศ.เกียรติคุณ ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ประธานกรรมการอำนวยการ สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ ศ.เกียรติคุณ ดร.สัญชัย จตุรสิทธา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพหุศาสตร์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หน่วยงานองค์กรต่างๆ ร่วมในพิธีฯ ภายในงานยังมีการเสวนา เรื่อง “MDRI และบทบาทต่อการพัฒนาสังคม ชุมชนและอุตสาหกรรม” โดยมี ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ศ.เกียรติคุณ ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ประธานคณะกรรมการอำนวยการประจำสถาบันวิจัยพหุศาสตร์, ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.), ศ.เกียรติคุณ ดร.สัญชัย จตุรสิทธา ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ ดำเนินรายการโดย รศ.วงกต วงศ์อภัย รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพหุศาสตร์ เพื่อสะท้อนถึงแนวทางนโยบายในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่เป็นเป้าประสงค์สำคัญที่สถาบันวิจัยพหุศาสตร์มีส่วนร่วมผลักดันสนับสนุนให้ไปสู่เป้าหมายความสำเร็จเป็นรูปธรรมตามแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 โดยยึดหลักการพัฒนาและผลักดันงานวิจัยที่ท้าทาย ตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการที่เร่งด่วนของสังคม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ภายในงานยังมีผลงานของนักวิจัยที่ได้นำมาจัดแสดงโปสเตอร์ผลงานวิจัย จำนวน 60 ผลงานเด่น เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาส ครบรอบ 60 ปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และบูธนิทรรศการแสดงผลงานวิจัย/ผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัย ของนักวิจัย เครือข่ายวิจัยและศูนย์วิจัยที่สังกัดสถาบันวิจัยพหุศาสตร์ จำนวน 12 บูธ สะท้อนความก้าวหน้าในภารกิจที่ยกระดับคุณภาพหลังการควบรวมสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับสถาบันวิจัยสังคมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ทั้งนี้สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ (Multidisciplinary Research Institute – MDRI) จัดตั้งขึ้นตามประกาศราชกิจจานุเบกษา พุทธศักราช 2566 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 ตามมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนพิเศษ 93 ง หน้า 21 ที่เห็นชอบให้ควบรวมสถาบันวิจัยสังคมและสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็น “สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ (Multidisciplinary Research Institute – MDRI)” มีสถานะเป็นส่วนงานวิชาการ รูปแบบการบริหารหน่วยงานภายในแบบแพลตฟอร์ม โดยมีความยืดหยุ่นของ กฎระเบียบ หลักเกณฑ์ การกับดูแล เพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมหรือภารกิจรูปแบบใหม่ โดยทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มกลางที่ขับเคลื่อนงานวิจัยสหสาขาเชิงนวัตกรรม ที่เปิดโอกาสให้ทุกส่วนงานและบุคลากรทุกระดับได้มีโอกาสเข้ามาทำงานร่วมกันในลักษณะโครงการบูรณาการที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ภายใต้แผนพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนผลงาน ขยายงานวิจัยสหสาขาเชิงนวัตกรรม และมีสำนักงานสถาบันทำหน้าที่บริหารงานกลาง เพื่อบูรณาการศาสตร์องค์ความรู้ด้านต่างๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านสุขภาพ ด้านสังคมศาสตร์ สร้างสรรค์งานวิจัยเชิงนวัตกรรมที่มีคุณภาพให้ตอบโจทย์แผนฯ 13 และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตลอดจนสร้างสภาพแวดล้อมระบบนิเวศการวิจัย แนวทางการดำเนินงานของสถาบันฯ จะเน้นการดำเนินงานในลักษณะพหุศาสตร์ที่ครอบคลุมหลายมิติทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ มีผลผลิตและผลลัพธ์ (output/outcome) ที่ครอบคลุมทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์

ซึ่งสถาบันฯ ได้กำหนดห่วงโซ่มูลค่า (Value chain) ที่มีการบูรณาการส่งเสริมและสนับสนุนการต่อยอดงานวิจัย นวัตกรรม โดยสถาบันฯ เป็นผู้วิจัยในลำดับต้นน้ำ (หลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกับวิทยาลัยพหุวิทยาการและสหวิทยาการ MIds) และกลางน้ำ (Deep Tech. & Integrated Research ร่วมกับการบริการวิชาการ) เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ที่พร้อมใช้งานในระดับต้นแบบและระดับอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ให้แก่หน่วยงาน สำนักบริหารนวัตกรรม (สบน.) เพื่อพัฒนางานวิจัยไปเป็นผลงานที่พร้อมนำไปใช้ รวมถึงให้มีการบริการวิชาการ ไปสู่ชุมชน สังคม และอุตสาหกรรม เพื่อให้มีสร้างผลกระทบเชิงสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของทางสภามหาวิทยาลัย ที่ได้ตั้งข้อสังเกตว่า “ควรให้ความสำคัญกับการนำผลงานวิจัยไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง มากกว่าการมุ่งเน้นจัดทำวิจัยเพื่อการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการ”