องคมนตรีประชุมติดตามงานโครงการหลวงรอบเดือนพร้อมเปิดตลาดโครงการหลวงที่ม.แม่โจ้

องคมนตรี ประชุมและติดตามผลการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวงเดือน ก.พ.พร้อมเยี่ยมศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติและเปิดตลาดโครงการหลวงที่ ม.แม่โจ้

เชียงใหม่ 22 ก.พ.- นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง และพลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เลขาธิการ และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานร่วมในการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรอง และขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามนโยบาย ครั้งที่ 5/2567 ของมูลนิธิโครงการหลวง ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิฯ โดยเฉพาะศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแห่งแรกในรัชสมัย ซึ่งเริ่มดำเนินโครงการเมื่อปี 2558 ปัจจุบันเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม คือ ฝิ่นได้หมดไปจากพื้นที่ตั้งแต่ปี 2562 มีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีพและการประกอบอาชีพ เป็นตัวอย่างความสำเร็จจากการประสานความร่วมมือภายใต้เป้าหมายเดียวกันของหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน โดยโครงการหลวงเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งการมีส่วนร่วมของชุมชน

นอกจากนี้ มุ่งเน้นการขยายอาชีพทางเลือกทั้งภาคเกษตร และนอกภาคเกษตร ส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่ป่า มีผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมสีจากธรรมชาติ วางจำหน่ายที่จังหวัดตาก และผ่านช่องทางของโครงการหลวง ส่งผลให้ครัวเรือนมีรายได้สูงขึ้น และมีการส่งเสริมด้านสาธารณสุข ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ มีอาคารสุขศาลา ซึ่งมีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า เพื่อช่วยชีวิตในกรณีฉุกเฉิน

วันเดียวกัน พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามความก้าวหน้าบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมูลนิธิโครงการหลวงและมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยในปี 2567 มีกรอบการดำเนินงานวิจัยร่วมกัน 2 กรอบ ได้แก่ ด้านสังคมและการศึกษา มุ่งเน้นศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมบนพื้นที่สูง รองรับการพัฒนาชุมชนสู่อนาคต และด้านนวัตกรรม ได้พัฒนาโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ กระบวนการอบแห้งพืช การผลิตเมล็ดพันธุ์ การพัฒนาพันธุ์พืชและเทคโนโลยีการผลิตพืช นวัตกรรมวิศวกรรมเครื่องมือเพื่อการเกษตรและแปรรูป การออกแบบระบบและการจัดเก็บฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data โครงการหลวง

นอกจากนี้ ยังให้การสนับสนุนพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ในโครงการกองทุนปุ๋ยอินทรีย์และไฮโดรโพนิกส์ โดยองคมนตรีได้เยี่ยมชมศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติมหาวิทยาลัยแม่โจ้ด้วย จากนั้น ไปเปิดจุดจำหน่ายสินค้าโครงการหลวง ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้มอบอาคารคาวบอย แก่มูลนิธิฯ เพื่อเป็นจุดจำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากการส่งเสริมเกษตรกรบนพื้นที่สูง เพื่อขยายช่องทางการกระจายสินค้าภายใต้มาตรฐานการผลิตของโครงการหลวง สอดรับเป้าหมายการเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรอินทรีย์ มหาวิทยาลัยสีเขียว และมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ โดยอยู่ในพื้นที่ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ ด้านหน้ามหาวิทยาลัยฯ ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ทุกวัน